วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

การตกแต่งห้องเรียนเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้

การตกแต่งห้องเรียนเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ครูทุกคนจัดทำให้แก่นักเรียนเพื่อส่งเสริม
บรรยากาศในชั้นเรียนให้ผู้เรียนมีความรู้สึกสบายตาและสบายใจ เสมือนนั่งอยู่ใน สถานที่แห่งการเรียนรู้ทางวิชาการ ซึ่งสามารถเป็นปัจจัยส่งเสริมด้านการเรียนรู้ ให้แก่นักเรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

การตกแต่งห้องเรียนของแต่ละสถานศึกษามีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับงบประมาณ 
วัฒนธรรมขององค์กร ระดับชั้นของนักเรียน โปรแกรมการเรียน ความใส่ใจของครู และความสร้างสรรค์ในงานตกแต่งห้องเรียน 

การตกแต่งห้องเรียนจึงเป็นภาระงานหนึ่งที่ท้าทายความสามารถของครู เนื่องจาก
ครูต้องศึกษาข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการตกแต่งห้องเรียนอีกทั้งต้องทำงานตกแต่ง
ห้องเรียนภายใต้สถานการณ์ที่อาจมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และวัฒนธรรมของ
องค์กร 

อย่างไรก็ตามการตกแต่งห้องเรียนเป็นสิ่งที่ครูหลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะเป็นภาระงาน
หนึ่งที่ครูได้รับมอบให้ทำ การวางแผนตกแต่งห้องเรียนที่ดีและรอบคอบจึงเป็นสิ่งที่ สามารถช่วยครูในเรื่องการลดภาระงาน การประหยัดงบประมาณ และสร้างสรรค์งาน
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ครูจึงควรวางแผนไว้ตลอดทั้งปีการศึกษาว่าจะตกแต่งห้องเรียน ณ ตำแหน่งใด
ตกแต่งอย่างไร  ใช้งบประมาณเท่าไร ใครจะมาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการทำงาน 
และหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องใด 

ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้เป็นหัวข้อในการตกแต่งห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้แก่ 
นักเรียนสามารถมีได้ดังต่อไปนี้ 1) เนื้อหารายวิชาที่สอน 2) เนื้อหาที่นักเรียน จำเป็นต้องทราบเนื่องจากอยู่ในกระแสความสนใจของสังคม 3) ความรู้ทั่วไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  4) ข่าวประจำวัน 5) ประกาศหรือข้อมูลที่ครู
ต้องแจ้งให้นักเรียนรับรู้  6) ความเคลื่อนไหวของกิจกรรมเสริมหลักสูตรของ
สถานศึกษา 7) ผลงานของนักเรียน และ 8) เพื่อความสวยงาม เป็นต้น

ครูอาจตกแต่งห้องเรียนตามแนวความคิดของตนเองโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สามารถ จะเอื้อให้ได้ตามสภาพและสถานการณ์ของสถานศึกษา แต่เป้าหมายหลักก็เพื่อให้
นักเรียนได้เรียนรู้อยู่ในห้องเรียนที่มีสภาพบรรยากาศแห่งวิชาการที่ดีและส่งเสริม นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งทางด้านปัญญาและทางด้านอารมณ์

วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

วิธีการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่ม

การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่ม เป็นการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาหรือศึกษาหาความรู้อย่างอิสระ รู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม และการศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ด้วยตนเอง โดยครูเป็นผู้กระตุ้นให้นักเรียนหาสาเหตุของปัญหาโดยใช้การตั้งคำถาม จากหัวข้อที่นักเรียนต้องการศึกษา
ขั้นตอนการสอน แบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่ม
          Sharan and the other (1980) แนะนำการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่ม 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.       ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน  ครูเสนอสถานการณ์โดยใช้บทอ่าน เรื่องสั้น วีดีทัศน์ ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียน อยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและแก้ปัญหา นักเรียนจะกำหนดปัญหาหรือหัวข้อที่ต้องการศึกษา และแบ่งกลุ่มเลือกหัวข้อที่ตนสนใจ
2.       ขั้นการวางแผนการทำงาน  สมาชิกในกลุ่มแบ่งความรับผิดชอบในการทำงานและวิธีค้นหาคำตอบจากแหล่งข้อมูลหรือแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ
3.       ขั้นการทำงาน  นักเรียนแต่ละคนปฏิบัติงานที่ตนรับผิดชอบ รวบรวมข้อมูล เสนอความคิดเห็น อภิปรายชี้แจง และสรุปแนวความคิดของกลุ่ม
4.       ขั้นเตรียมตัวรายงาน  นักเรียนตัดสินใจที่จะนำเสนอสิ่งที่ได้จากการค้นคว้า วางแผนการนำเสนอผลงานต่อที่ประชุม
5.       ขั้นเสนอรายงาน  นักเรียนแต่ละกลุ่มเสนอผลงานและกระบวนการทำงานของกลุ่มต่อชั้น
6.       ขั้นการประเมินผล  นักเรียนแลกเปลี่ยนและสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้องานที่ทำ นักเรียนและครูร่วมกันประเมินผลงานจากพฤติกรรมการทำงานกลุ่มและการนำเสนอผลงานหน้าชั้น
           นาตยา ปิลันธนานนท์ ( 2543 : 42) ได้กล่าวถึงลักษณะของการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่มว่ามีลักษณะดังนี้
1.       ผู้เรียนร่วมกันเสนอหัวข้อหรือประเด็นที่ต้องการศึกษาค้นคว้า จากสิ่งที่ได้เรียนไป
2.       ผู้เรียนเลือกเข้ากลุ่มตามหัวข้อที่ตนต้องการศึกษา จำนวนสมาชิกในกลุ่มไม่ควรมากเกินไป ประมาณกลุ่มละ 4-6 คน จำนวนสมาชิกในกลุ่มของแต่ละหัวข้ออาจมีจำนวนไม่เท่ากันก็ได้ ขึ้นกับลักษณะของหัวข้อที่จะศึกษา และแต่ละกลุ่มควรมีผู้เรียนที่มีความสามารถหลากหลาย
3.       ครูแนะนำวิธีการทำงานกลุ่ม การสืบค้น และรวบรวมข้อมูลความรู้ ในแต่ละหัวข้อ
4.       ผู้เรียนในแต่ละกลุ่มร่วมกันวางแผนการศึกษาค้นคว้าในหัวข้อของตน จากนั้นแบ่งงานกันทำตามที่วางแผนกันไว้
5.       เมื่อทุกกลุ่มศึกษาค้นคว้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทุกกลุ่มเสนอผลงานของกลุ่ม โดยสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมใจการนำเสนองาน หลักจากนั้นมีการประเมินผลงาน และการทำงานกลุ่มของกันและกัน
          สิริพร ทิพย์คง (2545 : 173-174) กล่าวว่าวิธีการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่มมีองค์ประกอบอยู่ 6 ประการ คือ
1.       การเลือกหัวข้อเรื่องที่จะศึกษา  นักเรียนเลือกหัวข้อเรื่องที่เฉพาะเจาะจง จากนั้นแบ่งภาระงานเพื่อร่วมกันทำงานกลุ่ม
2.       การวางแผนร่วมกันในการทำงาน ครูและนักเรียนวางแผนร่วมกันในวิธีดำเนินการ ภาระงานที่ทำ และเป้าหมายของงานในแต่ละหัวข้อย่อย ตามปัญหาที่เลือก
3.       การดำเนินงานตามแผนการที่วางไว้ นักเรียนดำเนินงานตามแผนการที่วางไว้ในขั้น 2 กิจกรรมและทักษะต่างๆ ที่นักเรียนจะต้องศึกษาควรมาจากแหล่งข้อมูลทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ครูควรให้คำปรึกษากับกลุ่มพร้อมกับติดตามความก้าวหน้าในการทำงานของนักเรียน ช่วยเหลือเมื่อนักเรียนต้องการความช่วยเหลือ
4.       การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ นักเรียนวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่นักเรียนรวบรวมมาได้ในขั้น 3 แล้ววางแผนรูปแบบการนำเสนอต่อชั้นเรียน
5.       การนำเสนอผลงาน กลุ่มนำเสนอผลงานตามหัวข้อของเรื่องที่เลือก ครูต้องพยายามกระตุ้นให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมขณะที่มีการนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน
6.   การประเมินผล ครูและนักเรียนจะร่วมกันประเมินผลงานที่ถูกนำเสนอ พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นต่อผลงานทุกชิ้น
เอกสารอ้างอิง
นาตยา ปิลันธนานนท์. (2543). การเรียนแบบร่วมมือ. กรุงเทพมหานคร: บริษัท จูนพับลิชชิ่ง จำกัด.
สิริพร ทิพย์คง. (2545). หลักการสอนคณิตศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ.
Sharan, Shlomo and the other. 1980. “Academic Achievement of Elementary School Children in Small Group Versus Whole-Class Instruction”. The Journal of Experimental Education. 48(2) : 125-129.

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประมวลการสอนวิชาภาษาอังกฤษ

การเขียนประมวลการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา ครูจะเขียนข้อมูลรายวิชาในภาพรวมจากนั้นจึงเขียนรายละเอียดเชิงลึกในแผนการจัดการเรียนรู้อีกครั้ง





วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความเชื่อมั่น (Reliability)

ความเชื่อมั่นของแบบทดสอบคือค่าความคงที่ของคะแนนที่วัดได้จากแบบทดสอบฉบับนั้น กล่าวคือเมื่อนำแบบทดสอบไปวัดกับผู้ทำแบบทดสอบกลุ่มเดียวกัน 2 ครั้ง หรืออาจจะหลายครั้ง  คะแนนที่ได้จากการวัดจะมีความคงที่  แบบทดสอบที่มีความเชื่อมั่นสูงจะเป็นแบบทดสอบที่ผู้ทำแบบทดสอบไม่ว่าจะวัดกี่ครั้งคะแนนที่ได้จากการวัดก็จะเหมือนเดิม หรืออาจจะสูงหรือต่ำบ้างเพียงเล็กน้อย ในทางกลับกันแบบทดสอบที่มีความเชื่อมั่นต่ำจะเป็นแบบทดสอบที่ผู้ทำแบบทดสอบกลุ่มเดิมทำแบบทดสอบกี่ครั้งคะแนนที่ได้ก็จะเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ซึ่งบางครั้งก็ได้คะแนนสูง บางครั้งก็ได้คะแนนต่ำ จึงส่งผลให้แบบทดสอบนั้นขาดความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นของแบบทดสอบมีค่าอยู่ระหว่าง 0.00-1.00 แบบทดสอบที่มีค่าความเชื่อมั่นเป็น 1.00 หมายความว่าแบบทดสอบฉบับนั้นมีค่าความเชื่อมั่นสูง  แบบทดสอบที่มีค่าความเชื่อมั่นเป็น 0.00 หรือเข้าใกล้ 0.00 หมายความว่าแบบทดสอบฉบับนั้นขาดความเชื่อมั่น
การหาความเชื่อมั่นแบบ Kruder-Richardson-21 (KR - 21)



วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความตรงของเครื่องมือ (Validity)

เมื่อผู้วิจัยสร้างข้อสอบเสร็จเรียบร้อยแล้วผู้วิจัยจะต้องหาค่าความตรงของข้อสอบนั้นก่อนที่จะนำไปใช้จริงทั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่าข้อสอบสามารถวัดได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ผู้วิจัยได้กำหนดไว้หรือไม่ ข้อสอบที่ดีต้องมีความตรงสูง ความตรงของข้อสอบแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1. ความตรงตามเนื้อหา  (Content Validity) การตรวจสอบหาความตรงของข้อสอบมีวัตถุประสงค์เพื่อดูว่าข้อสอบนั้นมีความครอบคลุมเนื้อหา ทักษะ และพฤติกรรมที่ต้องการวัดมากน้อยเพียงไร
2. ความตรงตามเกณฑ์ (Criterion-Related  Validity) การตรวจสอบหาความตรงตามเกณฑ์มีวัตถุประสงค์เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนของข้อสอบที่จะตรวจสอบหาความตรงกับเกณฑ์ว่าคะแนนที่ได้จากการทดสอบสามารถนำไปใช้ในการทำนายหรือคาดคะเนผลการเรียนของผู้ทำข้อสอบในปัจจุบันหรืออนาคตได้มากน้อยเพียงใด ความตรงตามเกณฑ์มี 2 ชนิดคือ
            2.1ความตรงเชิงสภาพ  (Concurrent Validity) การตรวจสอบหาความตรงเชิงสภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อดูคุณสมบัติของข้อสอบว่าสามารถวัดพฤติกรรมต่างๆ ของผู้ทำข้อสอบได้สอดคล้องและสัมพันธ์กับสภาพตามความเป็นจริงของผู้ทำข้อสอบในปัจจุบันหรือไม่
                2.2 ความตรงเชิงพยากรณ์ (Predictive Validity) การตรวจสอบหาความตรงเชิงพยากรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อดูคุณสมบัติของข้อสอบว่าสามารถทำนายพฤติกรรมต่างๆ ของผู้ทำข้อสอบในขณะนั้นได้สอดคล้องและสัมพันธ์กับสภาพตามความเป็นจริงของผู้ทำข้อสอบในอนาคตหรือไม่
3. ความตรงตามโครงสร้าง (Construct Validity) การตรวจสอบหาความตรงตามโครงสร้างมีวัตถุประสงค์เพื่อดูว่าเครื่องมือวิจัยหรือข้อสอบนั้นสามารถใช้วัดหรืออธิบายสิ่งที่ต้องการวัดได้สอดคล้องตามทฤษฎีหรือไม่
การหาค่าความตรงตามเนื้อหา
 เป็นการหาว่าข้อสอบสามารถวัดได้ครอบคลุมตามสิ่งที่ต้องการวัดหรือไม่โดยให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนอย่างน้อย ๓ คน ตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับวัตถุประสงค์หรือที่เรียกกันว่าการหาค่าดัชนีการสอดคล้อง  IOC          (  Index  of  Item Objective Congruency ) โดยใช้สูตรและเกณฑ์ในการตรวจพิจารณาข้อคำถามดังนี้
สูตรการหาค่าดัชนีการสอดคล้อง 







IOC  =  ดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อสอบกับจุดประสงค์
    R  =  คะแนนของผู้เชี่ยวชาญ
 R   =  ผลรวมของคะแนนของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคน
   N  =   จำนวนผู้เชี่ยวชาญ
 เกณฑ์ในการตรวจพิจารณาข้อคำถามผู้เชี่ยวชาญจะให้คะแนนคำถามแต่ละข้อดังนี้ +1 หรือ 0 หรือ -1
+1  = แน่ใจว่าข้อคำถามวัดได้ตรงตามจุดประสงค์ที่ระบุไว้จริง
   0 = ไม่แน่ใจว่าข้อคำถามวัดได้ตรงตามจุดประสงค์ที่ระบุไว้จริง
 -1   =  แน่ใจว่าข้อคำถามวัดได้ไม่ตรงตามจุดประสงค์ที่ระบุไว้จริง
ถ้าข้อคำถามใดที่มีค่า IOC ตั้งแต่ 0.50-1.00 ถือว่ามีค่าความเที่ยงตรง ใช้ได้
ตัวอย่างเช่น  คำถามข้อที่ 1 ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน ให้คะแนน +1 ทุกคน



เอกสารอ้างอิง
บุญเรียง ขจรศิลป์.2539.วิธีวิจัยในชั้นเรียน.กรุงเทพมหานคร:หจก.พี.เอ็น.การพิมพ์
สุรพงษ์ คงสัตย์ และ ธีรชาติ ธรรมวงค์ (2551)''การหาค่าความเที่ยงตรงของแบบสอบถาม (IOC)'' http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=656&articlegroup_id=146


วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ดัชนีอำนาจจำแนก

ดัชนีอำนาจจำแนก  (Discrimination Index)
                ข้อสอบที่มีคุณภาพจะสามารถจำแนกคนที่ทำข้อสอบออกให้เห็นชัดเจนถึงคนในกลุ่มเก่งและคนในกลุ่มอ่อน กล่าวคือข้อสอบที่ดีคนในกลุ่มเก่งจะตอบถูกมากกว่าคนในกลุ่มอ่อน ผู้วิจัยสามารถพิจารณาอำนาจจำแนกของข้อสอบแต่ละข้อได้จากดัชนีอำนาจจำแนกของข้อสอบ ซึ่งดัชนีอำนาจจำแนกจะมีค่าอยู่ระหว่าง - 1 ถึง + 1  แต่ค่าที่สามารถยอมรับได้จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0.20 ขึ้นไปถึง 1.00 ถ้าข้อสอบมีดัชนีอำนาจจำแนกต่ำกว่า 0.20 แสดงว่าข้อสอบนั้นมีคุณภาพต่ำในการจำแนกคนในกลุ่มเก่งออกจากคนในกลุ่มอ่อน ผู้วิจัยจะต้องปรับปรุงหรือตัดข้อสอบข้อนั้นทิ้งไป  ถ้าข้อสอบมีดัชนีอำนาจจำแนกเข้าใกล้ 1.00 มากเท่าใดแสดงว่าข้อสอบข้อนั้นสามารถจำแนกคนในกลุ่มเก่งออกจากคนในกลุ่มอ่อนได้ดี
                ดัชนีอำนาจจำแนก
                                                0.40   ขึ้นไป          เป็นข้อสอบที่ดีมาก
                                                0.30 - 0.39             เป็นข้อสอบที่ค่อนข้างดี 
                                                0.20 – 0.29            เป็นข้อสอบที่พอใช้แต่ต้องปรับปรุง
                                                ต่ำกว่า 0.20            เป็นข้อสอบที่ไม่ดี ต้องตัดทิ้งหรือปรับปรุง
วิธีการแบ่งจำนวนคนทำข้อสอบออกเป็นกลุ่มสูงและกลุ่มต่ำ ผู้วิจัยสามารถใช้เกณฑ์ 50%  หรือ 25%  หรือ  27 %  การวิเคราะห์ดัชนีอำนาจจำแนกสามารถคำนวณได้โดยใช้สูตร

  
  


r       คือ   ค่าอำนาจจำแนก
RU   คือจำนวนคนในกลุ่มสูงที่ตอบถูก
RL    คือจำนวนคนในกลุ่มต่ำที่ตอบถูก
N     คือคนในกลุ่มสูงหรือกลุ่มต่ำ
ยกตัวอย่างเช่น ข้อสอบวิชาหนึ่งมีคนเข้าสอบจำนวน 40 คน ผู้เขียนใช้วิธีการแบ่งจำนวนคนที่ทำข้อสอบออกเป็นคนในกลุ่มสูงและคนในกลุ่มต่ำโดยใช้เกณฑ์ 50%  จึงได้คนในกลุ่มสูง 20 คน และคนในกลุ่มต่ำ 20 คน
ข้อสอบข้อที่ 1 มีคนในกลุ่มสูงที่ตอบถูกจำนวน 15 คน  คนในกลุ่มต่ำที่ตอบถูกจำนวน 5 คน  ข้อสอบข้อนี้มีดัชนีอำนาจจำแนกดังนี้




จากข้อสอบข้อที่ 1 แสดงว่าข้อสอบข้อนี้เป็นข้อสอบที่ดีและสามารถจำแนกคนเก่งออกจากคนอ่อนได้ดี


ข้อสอบข้อที่ 2 มีคนในกลุ่มสูงที่ตอบถูกจำนวน 15 คน  คนในกลุ่มต่ำที่ตอบถูกจำนวน 15 คน  ข้อสอบข้อนี้มีดัชนีอำนาจจำแนกดังนี้



จากข้อสอบข้อที่ 2 แสดงว่าข้อสอบข้อนี้เป็นข้อสอบที่ใช้ไม่ได้ เพราะไม่สามารถจำแนกคนเก่งออกจากคนอ่อนได้ จึงต้องทำการปรับปรุงใหม่หรือตัดทิ้งไป
ข้อสอบข้อที่ 3 มีคนในกลุ่มสูงที่ตอบถูกจำนวน 5 คน  คนในกลุ่มต่ำที่ตอบถูกจำนวน 15 คน  ข้อสอบข้อนี้มีดัชนีอำนาจจำแนกดังนี้

  

จากข้อสอบข้อที่ 2 แสดงว่าข้อสอบข้อนี้เป็นข้อสอบที่ใช้ไม่ได้ เพราะมีดัชนีอำนาจจำแนกติดลบ ซึ่งแสดงว่าคนอ่อนตอบถูกมากกว่าคนเก่ง


ประสิทธิภาพของตัวลวง (Distracter Efficiency)
                ประสิทธิภาพของตัวลวงเป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งที่บ่งบอกถึงข้อสอบที่มีคุณภาพ ตัวลวงที่มีประสิทธิภาพควรเป็นตัวลวงที่คนในกลุ่มอ่อนเลือกตอบมากกว่าคนในกลุ่มเก่ง และควรจะเป็นตัวลวงที่มีคนเลือกอย่างน้อยร้อยละ 5 ถ้าข้อสอบข้อใดเป็นข้อสอบที่ไม่มีคนใดเลือกตอบเลยหรือถ้าเลือกตอบก็เลือกตอบไม่ถึงร้อยละ 5 ถือว่าเป็นตัวลวงที่มีคุณภาพต่ำและควรได้รับการปรับปรุง
เอกสารอ้างอืง
บุญเรียง ขจรศิลป์.2539.วิธีวิจัยในชั้นเรียน.กรุงเทพมหานคร:หจก.พี.เอ็น.การพิมพ์
อัจฉรา วงศ์โสธร.2539.การทดสอบและการประเมินผลการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ.กรุงเทพมหานคร.โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.