วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

วิธีการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่ม

การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่ม เป็นการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาหรือศึกษาหาความรู้อย่างอิสระ รู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม และการศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ด้วยตนเอง โดยครูเป็นผู้กระตุ้นให้นักเรียนหาสาเหตุของปัญหาโดยใช้การตั้งคำถาม จากหัวข้อที่นักเรียนต้องการศึกษา
ขั้นตอนการสอน แบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่ม
          Sharan and the other (1980) แนะนำการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่ม 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.       ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน  ครูเสนอสถานการณ์โดยใช้บทอ่าน เรื่องสั้น วีดีทัศน์ ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียน อยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและแก้ปัญหา นักเรียนจะกำหนดปัญหาหรือหัวข้อที่ต้องการศึกษา และแบ่งกลุ่มเลือกหัวข้อที่ตนสนใจ
2.       ขั้นการวางแผนการทำงาน  สมาชิกในกลุ่มแบ่งความรับผิดชอบในการทำงานและวิธีค้นหาคำตอบจากแหล่งข้อมูลหรือแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ
3.       ขั้นการทำงาน  นักเรียนแต่ละคนปฏิบัติงานที่ตนรับผิดชอบ รวบรวมข้อมูล เสนอความคิดเห็น อภิปรายชี้แจง และสรุปแนวความคิดของกลุ่ม
4.       ขั้นเตรียมตัวรายงาน  นักเรียนตัดสินใจที่จะนำเสนอสิ่งที่ได้จากการค้นคว้า วางแผนการนำเสนอผลงานต่อที่ประชุม
5.       ขั้นเสนอรายงาน  นักเรียนแต่ละกลุ่มเสนอผลงานและกระบวนการทำงานของกลุ่มต่อชั้น
6.       ขั้นการประเมินผล  นักเรียนแลกเปลี่ยนและสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้องานที่ทำ นักเรียนและครูร่วมกันประเมินผลงานจากพฤติกรรมการทำงานกลุ่มและการนำเสนอผลงานหน้าชั้น
           นาตยา ปิลันธนานนท์ ( 2543 : 42) ได้กล่าวถึงลักษณะของการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่มว่ามีลักษณะดังนี้
1.       ผู้เรียนร่วมกันเสนอหัวข้อหรือประเด็นที่ต้องการศึกษาค้นคว้า จากสิ่งที่ได้เรียนไป
2.       ผู้เรียนเลือกเข้ากลุ่มตามหัวข้อที่ตนต้องการศึกษา จำนวนสมาชิกในกลุ่มไม่ควรมากเกินไป ประมาณกลุ่มละ 4-6 คน จำนวนสมาชิกในกลุ่มของแต่ละหัวข้ออาจมีจำนวนไม่เท่ากันก็ได้ ขึ้นกับลักษณะของหัวข้อที่จะศึกษา และแต่ละกลุ่มควรมีผู้เรียนที่มีความสามารถหลากหลาย
3.       ครูแนะนำวิธีการทำงานกลุ่ม การสืบค้น และรวบรวมข้อมูลความรู้ ในแต่ละหัวข้อ
4.       ผู้เรียนในแต่ละกลุ่มร่วมกันวางแผนการศึกษาค้นคว้าในหัวข้อของตน จากนั้นแบ่งงานกันทำตามที่วางแผนกันไว้
5.       เมื่อทุกกลุ่มศึกษาค้นคว้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทุกกลุ่มเสนอผลงานของกลุ่ม โดยสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมใจการนำเสนองาน หลักจากนั้นมีการประเมินผลงาน และการทำงานกลุ่มของกันและกัน
          สิริพร ทิพย์คง (2545 : 173-174) กล่าวว่าวิธีการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่มมีองค์ประกอบอยู่ 6 ประการ คือ
1.       การเลือกหัวข้อเรื่องที่จะศึกษา  นักเรียนเลือกหัวข้อเรื่องที่เฉพาะเจาะจง จากนั้นแบ่งภาระงานเพื่อร่วมกันทำงานกลุ่ม
2.       การวางแผนร่วมกันในการทำงาน ครูและนักเรียนวางแผนร่วมกันในวิธีดำเนินการ ภาระงานที่ทำ และเป้าหมายของงานในแต่ละหัวข้อย่อย ตามปัญหาที่เลือก
3.       การดำเนินงานตามแผนการที่วางไว้ นักเรียนดำเนินงานตามแผนการที่วางไว้ในขั้น 2 กิจกรรมและทักษะต่างๆ ที่นักเรียนจะต้องศึกษาควรมาจากแหล่งข้อมูลทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ครูควรให้คำปรึกษากับกลุ่มพร้อมกับติดตามความก้าวหน้าในการทำงานของนักเรียน ช่วยเหลือเมื่อนักเรียนต้องการความช่วยเหลือ
4.       การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ นักเรียนวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่นักเรียนรวบรวมมาได้ในขั้น 3 แล้ววางแผนรูปแบบการนำเสนอต่อชั้นเรียน
5.       การนำเสนอผลงาน กลุ่มนำเสนอผลงานตามหัวข้อของเรื่องที่เลือก ครูต้องพยายามกระตุ้นให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมขณะที่มีการนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน
6.   การประเมินผล ครูและนักเรียนจะร่วมกันประเมินผลงานที่ถูกนำเสนอ พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นต่อผลงานทุกชิ้น
เอกสารอ้างอิง
นาตยา ปิลันธนานนท์. (2543). การเรียนแบบร่วมมือ. กรุงเทพมหานคร: บริษัท จูนพับลิชชิ่ง จำกัด.
สิริพร ทิพย์คง. (2545). หลักการสอนคณิตศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ.
Sharan, Shlomo and the other. 1980. “Academic Achievement of Elementary School Children in Small Group Versus Whole-Class Instruction”. The Journal of Experimental Education. 48(2) : 125-129.

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประมวลการสอนวิชาภาษาอังกฤษ

การเขียนประมวลการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา ครูจะเขียนข้อมูลรายวิชาในภาพรวมจากนั้นจึงเขียนรายละเอียดเชิงลึกในแผนการจัดการเรียนรู้อีกครั้ง